สวัสดีค่ะทุกคน
ชิฟูมิ มายด้า ผู้บริหารสาวชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยค่ะ
ขอบคุณทุกคนที่แวะเข้ามาชมบล็อก
“รีวิวจริงจากผู้บริหารสาวชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย” นะคะ
วันนี้ดิฉันอยากมาเล่าประสบการณ์ฉีดวัคซีนในไทยและผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับดิฉันหลังจากได้รับวัคซีนค่ะ
ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca)
ประเทศไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนที่ได้รับจากประเทศจีนทั้งซิโนแวค (Sinovac) และซิโนฟาร์ม (Sinopharm)
โดยเริ่มจากบุคลากรทางการแพทย์ก่อนตั้งแต่ช่วงสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
หลังจากนั้นก็เริ่มทยอยฉีดให้ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรังตามที่กระทรวงสาธารณสุขไทยกำหนดตามลำดับ
ส่วนตัวดิฉันเองช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ได้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนผ่านประกันสังคมในนามบริษัทเช่นกัน
แต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับจากหน่วยงานรัฐแต่อย่างใด
ตอนที่ลงทะเบียนจะไม่สามารถเลือกชนิดของวัคซีนเองได้
หน่วยงานรัฐจะเป็นคนกำหนดว่าจะได้รับวัคซีนชนิดไหนระหว่างซิโนแวค ซิโนฟาร์ม หรือแอสตร้าเซนเนก้า
พนักงานคนไทยในบริษัทดิฉันเลือกที่จะจองวัคซีนกับทางโรงพยาบาลด้วยตัวเอง
พนักงานบางคนก็ได้คิวฉีดแอสตร้าเซนเนก้าค่อนข้างไว โดยฉีดเข็มแรกไปตั้งแต่สิ้นเดือนมิถุนายน
สามีของดิฉันเองเป็นผู้บริหารของบริษัทผู้ผลิตแห่งหนึ่ง เลยมีจำนวนพนักงานเยอะพอสมควร
และเพื่อป้องกันคลัสเตอร์โควิดภายในบริษัทเลยเริ่มฉีดวัคซีนเข็มแรกกันไปตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายนแล้ว
จริงๆ แล้วดิฉันก็ได้รับการติดต่อจากสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย
ให้เดินทางกลับญี่ปุ่นชั่วคราวเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ด้วยเหมือนกัน
แต่ดิฉันเลือกที่จะไม่กลับไปเพราะรู้สึกว่าถ้าต้องกลับญี่ปุ่นเพื่อไปฉีดวัคซีนอย่างเดียว
เราจะต้องเสียทั้งเวลาในการกักตัวทั้งสองประเทศ (ไทยและญี่ปุ่น) แถมมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
พอลองลงทะเบียนกับโรงพยาบาลหลายแห่งในไทย ข้อมูลที่ได้มาก็มักจะไม่ค่อยตรงกันเท่าไร
เช่น
เลยไม่ค่อยแน่ใจว่าข้อมูลไหนที่ถูกต้องกันแน่ แต่ก็ไม่สามารถลงทะเบียนฉีดวัคซีนในนามบุคคลได้
และในระหว่างนั้นก็มีประกาศจากสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยให้ไปเข้ารับการฉีดวัคซีนค่ะ
การติดต่อจากสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยให้ไปฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า
วันที่ 29 กรกฎาคม มีประกาศจากสถานทูตญี่ปุ่น
ให้คนญี่ปุ่นในประเทศไทยเข้าไปรับการฉีดวีคซีนที่จัดสรรมาให้โดยเฉพาะ
ในตอนแรกจะให้เฉพาะผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังก่อน
แล้วหลังจากนั้นถึงจะเริ่มกระจายให้แก่คนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
แล้วตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคมก็จะเริ่มทยอยฉีดให้กับคนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปค่ะ
ส่วนตัวดิฉันอายุ 45 เลยได้รับการติดต่อจากสถานทูตในวันที่ 13 สิงหาคม พอได้ปุ๊บก็รีบลงทะเบียนเลยค่ะ
ตอนลงทะเบียนสามารถเลือกโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ได้หลายแห่ง
ส่วนดิฉันเลือกโรงพยาบาลสมิติเวชที่ดิฉันค่อนข้างจะคุ้นเคยและอยู่ใกล้กับบริษัทที่สุดค่ะ
ตอนลงทะเบียนจะได้รับข้อความว่า “ให้รอประมาณ 2 อาทิตย์หลังจากลงทะเบียนเสร็จ”
เลยคิดไปเองว่า
แต่พอวันที่ 19 สิงหาคมก็ได้รับอีเมลให้ไปรับวีคซีนเข็มแรกวันที่ 24 สิงหาคม
ส่วนเวลาทางโรงพยาบาลจะเป็นผู้กำหนดให้
พอฉีดวัคซีนเข็มแรกเสร็จก็จะระบุวันเวลาสำหรับฉีดเข็มสองมาให้เลย และได้รับใบนัดหมายมาค่ะ
วันฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรก
เพราะได้รับอีเมลแจ้งว่า “กรุณามารับการฉีดวัคซีนในวันอังคารที่ 24 สิงหาคม เวลา 14:00-14:30 น.”
พอถึงวันก็ออกจากบริษัทตอน 13:30 แล้วมุ่งหน้าไปที่โรงพยาบาลสมิติเวชเลยค่ะ
จุดฉีดวัคซีนจะแบ่งออกเป็นจุดลงทะเบียน ห้องรอฉีด จุดสำหรับฉีดวัคซีน และโซนนั่งพักเพื่อเฝ้าสังเกตอาการ
เหมือนจะมีคนมาฉีดแค่ประมาณ 20 คนเองค่ะ
การฉีดวัคซีนผ่านไปได้ด้วยดี หลังฉีดเสร็จก็เฝ้าสังเกตอาการต่อประมาณ 30 นาที
แล้วก็กลับบ้านไปทานข้าวเย็นได้ปกติโดยไม่มีปัญหาอะไร
พอกินข้าวเย็นตามปกติเสร็จก็ไปอาบน้ำแต่ก็ยังไม่มีอาการอะไรจนคิดไปว่าคงไม่เป็นไรแล้วมั้ง
แต่…
ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน – หนาวสั่น ปวดหัว อาเจียน ปวดเมื่อยตามตัว
วันที่ฉีดวัคซีน (24 สิงหาคม 2564)
ผ่านไป 6 ชั่วโมงครึ่งหลังจากฉีดวัคซีน เป็นเวลาประมาณ 3 ทุ่ม
ดิฉันตั้งใจจะเข้านอนให้ไวกว่าเดิม แต่พอห่มผ้าแล้วกลับหนาวสั่นขึ้นมา
ซึ่งเป็นอาการก่อนที่จะเริ่มมีไข้ขึ้นสูง
ลองวัดไข้ดูแล้วก็เป็นอุณหภูมิปกติ
รู้สึกว่าบริเวณปลายเท้าจะเย็นขึ้นกว่าปกติ ครึ่งตัวล่างรู้สึกหนาวก็จริง
แต่ครึ่งบนกลับรู้สึกร้อนแปลกๆ
จนไม่รู้ว่ากำลังร้อนหรือหนาวอยู่กันแน่
ดิฉันห่มผ้าห่มหนาๆ คลุมบริเวณเท้าไว้ทั้งหมด แล้วนอนโดยไม่ได้ห่มผ้าช่วงบนค่ะ
ส่วนใบหน้าเองก็รู้สึกร้อนขึ้นมาเลยเปลี่ยนไปใช้หมอนเจลเย็นแล้วนอนต่อ
มีเหงื่อออกทั้งใบหน้าและแผ่นหลังเยอะมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
พอหลับไปได้ไม่กี่ชั่วโมงก็สะดุ้งตื่นขึ้นมาเพราะมีอาการปวดหัวคล้ายกับจังหวะการเต้นของชีพจร
พอลองดูนาฬิกาก็เป็นเวลาประมาณตี 1 กว่าแล้วค่ะ
ดิฉันลุกมากินยาลดไข้ (พารา 2 เม็ด) แล้วลองนอนต่อดู
ปรากฎว่าอาการปวดหัวก็ยังไม่ทุเลาลงจนนอนไม่หลับถึงเช้าเลยค่ะ
วันที่ 2 หลังจากฉีดวัคซีน
และแล้วก็เข้าสู่เช้าวันถัดไปโดยที่อาการปวดหัวก็ยังไม่ทุเลาลง
ดิฉันกินอาหารเช้านิดหน่อยตอนประมาณ 7 โมง แต่หลังจากกินไป 40 นาทีก็อาเจียนออกมาค่ะ
หลังจากนั้นถึงจะแค่ดื่มน้ำก็จะอาเจียนออกมาค่ะ
ตอนกลางวันก็ไม่อยากกินอะไร เลยกินแอปเปิ้ลไปแต่ก็ยังอาเจียนอยู่ดี
แถมไม่มีทีท่าว่าอาการปวดหัวจะบรรเทาลงเลย เลยเลือกไปนอนพักบนเตียงค่ะ
พอประคบเย็นที่หัวแล้วรู้สึกว่าอาการปวดหัวจะเบาลงนิดหน่อย
เลยเลือกใช้เป็นหมอนเจลเย็นเหมือนเดิมค่ะ
ดิฉันไม่รู้ตัวเลยว่ามันร้อนหรือมันหนาวกันแน่ แต่มีเหงื่อออกเยอะมาก
ส่วนตอนเย็นก็กินได้แค่ซุปมิโสะเท่านั้นค่ะ
ตอนประมาณ 3 ทุ่ม จู่ๆ ก็รู้สึกว่าร่างกายดีขึ้นกว่าเดิมนิดหน่อย
ไม่มีการอาเจียนแล้วแต่ก็ยังคงปวดหัวอยู่เหมือนเดิม
แต่ไม่ได้ปวดหัวคล้ายกับจังหวะการเต้นของชีพจรเหมือนก่อนหน้านี้
รู้สึกว่าจะดีขึ้นมานิดหน่อยแล้วค่ะ
แต่กลับเริ่มไปปวดกล้ามเนื้อบริเวณแขนซ้ายที่ฉีดวัคซีนกับครึ่งตัวฝั่งซ้ายแทน
โดยเฉพาะภายในหูด้านซ้ายกับคอฝั่งซ้ายจะรู้สึกปวดมากเป็นพิเศษ
ดิฉันยังหนาวสั่นอยู่เหมือนเดิม เลยพยายามทำตัวให้อุ่นแล้วนอนหลับไปเหมือนกับคืนแรกค่ะ
วันที่ 3 หลังจากฉีดวัคซีน
อาการหนาวสั่นทั้งตัวหายไปแล้ว เลยตื่นนอนตามเวลาปกติ
กินข้าวเช้าได้ตามปกติแล้วแต่ยังคงปวดหัวมากอยู่เหมือนเดิม
ดิฉันเลือกที่จะดูแลร่างกายตัวเองให้ดีขึ้นก่อนเลยไม่เข้าบริษัทแล้วทำงานที่บ้านแทน
อาการปวดเมื่อยตามร่างกายฝั่งซ้ายหนักขึ้นกว่าวันที่ 2 มากจนยกแขนไม่ขึ้นเลยค่ะ
อีกทั้งยังมีอาการปวดตั้งแต่บริเวณใต้รักแร้ฝั่งซ้าย สะโพก ขาหนีบด้านซ้าย ไปจนถึงหัวเข่าด้านซ้ายอีกด้วย
ดิฉันคาดว่าน่าจะเป็นจุดที่มีต่อมน้ำเหลืองอยู่ค่ะ
แต่พอตกเย็นอาการปวดหัวก็ทุเลาไปมากแล้วเลยเข้านอนได้ตามปกติค่ะ
วันที่ 4 หลังจากฉีดวัคซีน
วันที่ 4 ดิฉันเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติแล้ว เหลือเพียงแค่อาการปวดกล้ามเนื้อฝั่งซ้ายเท่านั้นค่ะ
เริ่มอยากทานอาหารมากขึ้น
แต่ยังมีอาการปวดหัวอยู่เล็กน้อยในระดับที่สามารถทำงานได้ตามปกติเลยออกไปทำงานที่บริษัทค่ะ
หลังจากนั้นก็ทำงานได้ปกติ พอกลับมาบ้านก็กินข้าวและเข้านอนได้ตามปกติด้วยเช่นกันค่ะ
สิ่งที่ควรเตรียมไว้เพื่อรับมือกับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน
สิ่งเหล่านี้เป็นของที่ดิฉันเตรียมไว้ล่วงหน้าเพื่อรับมือกับผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นค่ะ
แผ่นเจลลดไข้แปะหน้าผาก (เช่น KoolFever :คูลฟีเวอร์)
แผ่นเจลลดไข้แปะหน้าผากสะดวกต่อการใช้เวลาที่มีไข้ขึ้นหรือตัวร้อน
ปกติดิฉันจะมีอาการปวดหัวข้างเดียวอยู่แล้ว ถ้าศีรษะเย็นลงอาการก็จะดีขึ้น
เลยมีแผ่นเจลลดไข้เตรียมไว้ที่บ้านอยู่แล้ว
ครั้งนี้ก็ได้แผ่นเจลลดไข้นี้ช่วยไว้เยอะเลยค่ะ
แผ่นเจลประคบเย็น (เช่น Nexcare ColdHot Maxi (เน็กซ์แคร์ โคลด์ฮอท แม็กซี่))
ดิฉันใช้แผ่นเจลประคบเย็นขนาดใหญ่ค่ะ
ครอบครัวที่มีเด็กเล็กอยู่ด้วยส่วนมากก็น่าจะมีแผ่นเจลประคบเย็นติดตู้เย็นไว้
เผื่อเวลาเจ้าตัวเล็กเกิดตัวร้อนขึ้นมากะทันหันใช่ไหมล่ะคะ?
ครั้งนี้แผ่นเจลประคบเย็นเองก็มีประโยชน์มากๆ เลยค่ะ
ดิฉันเอาผ้าขนหนูมาพันรอบแผ่นเจลแล้วใช้แทนหมอนไปเลย
แผ่นเจลแบบนี้นอกจากจะใช้ประคบเย็นแล้ว ยังใช้ประคบร้อนได้ด้วยนะคะ
เพื่อนดิฉันเองก็ใช้ประคบร้อนบริเวณหน้าท้องเวลาปวดท้องประจำเดือนเหมือนกันค่ะ
เครื่องดื่มเกลือแร่ (เช่น Royal-D (รอแยล-ดี) หรือ Pocari Sweat (โพคารี่เสวท))
ดิฉันมีอาการอาเจียนเพิ่มมาด้วย เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำเลยเตรียมไว้ด้วยค่ะ
ปกติมักจะดื่มเวลาท้องเสียหรือตอนออกกำลังกายกันอยู่แล้ว
คิดว่าหลายๆ ครอบครัวคงมีติดบ้านไว้เหมือนกัน
ดิฉันวางน้ำทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง แล้วคอยดื่มเรื่อยๆ
พอดิฉันดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่แล้วอาการอาเจียนก็จะทุเลาลง
เลยรู้สึกว่าเป็นของสำคัญอีกอย่างที่ต้องมีเตรียมไว้เลยค่ะ
สรุป
และนี่ก็คือประสบการณ์และผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าของดิฉันค่ะ
สามีของดิฉันแทบจะไม่มีผลข้างเคียงอะไรเลย ส่วนพนักงานในบริษัทเองบางคนก็มีบางคนก็ไม่มี
เลยอยากนำประสบการณ์ส่วนตัวมาเล่าให้ฟังและหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนนะคะ
กรุณาแสดงความคิดเห็นหากคุณชอบบทความนี้